มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ส่วนพัฒนานักศึกษา จัดกิจกรรมชวนคุย “ประสบการณ์วุ่นๆ ของวัยรุ่นในวัยเรียน” (Teen Lesson) ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 โดยแขกรับเชิญพิเศษ พี่ดีเจอ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล แห่ง Club Friday ถ่ายทอดสดผ่าน Youtube : Activity MFU เมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 ซึ่งน้องๆ นักศึกษาใหม่จะได้รับคำแนะนำและข้อคิดในเรื่องต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการใช้ชีวิตเมื่อก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องการเรียน เรื่องเพื่อน รวมถึงเรื่องความรัก และยังเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ถามคำถามเข้ามาได้และตอบกันแบบสดๆ โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยม่ฟ้าหลวง ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ก่อนที่จะเปิดภาคเรียนจริง ทำให้นักศึกษาใหม่สามารถปรับตัวได้เมื่อต้องเจอกับสังคมใหม่ รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ในระดับมหาวิทยาลัย โดยในปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด
พี่ดีเจอ้อย นภาพร ได้ชวนคุยกับน้องๆ ในหลายประเด็น สามารถรับชมแบบเต็มๆ ได้ที่ Youtube : Activity MFU https://www.youtube.com/watch?v=5EJBWPZiAXs และสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาใหม่ได้ที่แฟนเพจ MFU Activities https://www.facebook.com/mfuactivities
..
ข้อคิดส่วนหนึ่งจากกิจกรรม Teen Lesson
“เรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ไม่ใช่จุดสิ้นสุดการเรียนรู้ แต่เรากำลังเปลี่ยนครูคนใหม่ มาสู่รั้วมหาวิทยาลัย และเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังต้องเรียนรู้ไปสู่ชีวิตการทำงาน การเรียนรู้ชีวิตในแต่ละช่วงก็มีความยากแตกต่างกันไป”
“การกรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ เวลาที่เราต้องปรับตัว เราต้องให้เวลากับเวลา”
“ในการเปลี่ยนแปลง มักจะมีทั้งสิ่งที่เราชอบ และสิ่งที่เราไม่ชอบ”
“เพื่อนบางคน ตอนเจอกันครั้งแรกอาจจะไม่ชอบ แต่วันนี้กลายเป็นเพื่อนแท้”
“สาขาวิชาที่เราชอบ เมื่อไปเรียนจริงๆ แล้ว เราอาจพบว่าไม่เหมือนที่เราคิดไว้ ต้องให้เวลากับมันให้มากพอ แล้วเรียนรู้จากสิ่งที่เราชอบ และเรียนรู้จากสิ่งที่เราไม่ชอบ”
“นอกจากเรียนรู้จากการเรียนแล้ว อย่าลืมเรียนรู้จากการทำกิจกรรม”
“ยุคโควิด ทำให้ชีวิตเรายากกว่าเดิมหลายเท่า ไม่มีอะไรง่าย ไม่มีอะไรสบาย”
“นอกเหนือจากตำราที่ต้องเรียนแล้ว ตำราเล่มใหญ่ที่ชื่อมนุษย์ คือตำราที่สอนเรื่องใจได้ดีที่สุด ทุกคนคือตำราของเรา”
“ไม่รู้ว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน เราต้องเรียนรู้การปรับตัว เปิดใจเรียนรู้ รู้จักคว้าโอกาสที่มาถึง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้อะไรจากมหาวิทยาลัยที่แตกต่างจากคนอื่น”
“ในยุคนี้ หลายคนเสพติดความรวดเร็ว ว่องไว อินเตอร์เน็ตต้องเร็ว การสื่อสารโซเชียลต้องเร็ว จนรอคอยไม่เป็น”
“ความรักก็เช่นกัน เจอกันวันเดียวแล้วชอบ อาจจะไม่พอ ดูกันวันเดียวอาจจะไม่พอ เราต้องใช้เวลากับคน กับความสัมพันธ์ รวมถึงการเรียน ให้มากพอ”
“โซเชียลมีเดียมาอยู่ในชีวิตเรามากขึ้น บางครั้งเราเสพติดความรวดเร็ว จนลืมคิดก่อนโพส ก่อนแชร์ จนลืมไปว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะอยู่กับเราไปตลอด”
“อาจเคยได้ยินว่า เวลาที่เราไปสมัครงาน ที่ทำงานจะขอดูโซเชียลมีเดียของเรา อดีตอาจส่งผลกับเราได้ในวันหนึ่ง”
“เลิกคิดว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ส่วนตัว แต่มันแค่เป็นช่องทางแถลงข่าวส่วนตัว ที่คนอื่นสามารถรับรู้สิ่งที่เราแสดงออกมาได้หมด ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย”
“รู้จักเบรกตัวเองให้เป็น ไม่อย่างนั้นสิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักฐานมาทำร้ายตัวเราได้”
“Work Life Balance เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่แบ่งเวลาว่าอันนี้ทำงาน อันนี้ครอบครัว อันนี้ส่วนตัว แต่ให้คำนึงว่า ณ วินาทีนั้นๆ อะไรสำคัญที่สุดที่เราต้องทำ”
“ความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทุกอย่างมีส่วนส่งผลถึงกัน”
“ชีวิตเรา ได้เรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงเสมอ”
“โควิดทำให้เราเรียนรู้ว่า ถ้าเรารักใคร ให้อยู่ห่างๆ เขา” เป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าวันนี้สิ่งนี้จะเกิดขึ้น
“ถ้าพรุ่งนี้ไม่มี เราจะทำชีวิตให้เต็มที่ยังไง เราจะดูแลคนที่เรารักยังไง”
“ถ้าเราเรียนรู้คุณค่าของเวลาได้เร็ว เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้เงื่อนไขต่างๆ และไม่มีทางจะไม่เห็นคุณค่าของเวลา”
..
ปัญหาความรัก ที่มักเจอ มีอยู่ 3 ข้อ
“ข้อ 1 ความไม่ชัดเจน, ความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ ความไม่ชัดเจนไม่มีอยู่จริง เพราะความไม่ชัดเจนนั่นแหละคือความชัดเจน ความสัมพัน์ของเราจะไม่มีทางชัดเจนไปกว่านี้”
“ข้อ 2 การนอกใจ, อย่าให้เรื่องรักเดียวใจเดียวเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แล้วการนอกใจกันเป็นเรื่องปกติ..
“จงรักใครที่เรารักมาก มากจนไม่อยากมีคนอื่น, ถ้าเรารักมากแต่ก็ยังมองคนอื่น ยังมีคนอื่น นั่นไม่ใช่ความรัก..
“ถ้าเรายอมทนเป็นตัวสำรองได้ ทำไมเขาต้องให้เราเป็นตัวจริง..
“ความรักสำรอง ไม่เหมือนรองอันดับ 1 ถ้าเขาเลิกกัน ไม่ได้แปลว่าเราจะได้ขึ้นทำหน้าที่แทนเป็นตัวจริง แต่เราก็ยังจะเป็นรองอันดับ 1 ต่อไป..
“ข้อ 3 เพศทางเลือก, ไม่อยากให้มีคำว่าเพศทางเลือก เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าเพศสภาพจะเป็นแบบไหน..
“ยิ่งเรียกร้องให้คนอื่นยอมรับ ความเป็นเพศทางเลือก เพศที่สาม เพศที่สี่ ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่าง...ทุกคนควรได้รับความเท่าเทียมกัน”
การแสดงจุดยืนของ LGBTQ+
“การเรียกร้องความเป็นตัวตนมากเกินไป สุดท้ายอาจกลายเป็นเราที่อยากได้ความสำคัญ เราอาจกลายเป็นคนที่ตอกย้ำความแตกต่างของตัวเอง อาจไม่จำเป็นต้องมีเพศทางเลือก ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันอยู่แล้ว..
“ถ้าทุกคนเท่ากัน ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไร”
“ถ้าเราเท่าเทียมกัน เราก็ไม่ต้องมีคำถามว่า ทำไมเพศทางเลือกไม่เป็นผู้ชาย ทำไมเพศทางเลือกไม่เป็นผู้หญิง ทำไมผู้หญิงไม่เป็นผู้ชาย ทำไมผู้ชายไม่เป็นผู้หญิง”
“ปรับความคิด ปรับทัศนคติของตัวเอง ความแตกต่างคือเรื่องปกติ เราต้องนับถือความแตกต่าง แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ”
...
“พี่จัด Club Friday มา 16 ปี ปัญหาความรักก็จะวนๆ กลับมาเรื่องเดิมๆ แต่มันจะมีความเข้มข้นขึ้น”
“ปัญหาความรัก อาจเป็นเรื่องเดิม แต่รายละเอียดซับซ้อนมากขึ้นทุกที”
“ฟังเรื่องคนเป็นเรื่องน้ำเน่า แต่พอเป็นเรื่องของเรา การจมน้ำเน่าก็มีอยู่จริง”
......