การจัดการโรงพยาบาลสนาม Cohort Ward ณ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวเด่น

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมเป็นหอผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) รองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของจังหวัดเชียงราย จำนวน 200 เตียง โดยได้จัดเตรียมอาคารสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมทั้งจัดอัตรากำลังแพทย์พยาบาล โดยใช้พื้นที่ชั้น 8 และ ชั้น 9 เป็นหอผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) ในกรณีหากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เตียงของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ไม่สามารถรองรับได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษา

รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. เปิดเผยว่า มฟล. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับจังหวัดอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีการประชุมหารือร่วมกันในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเวชภัณฑ์และสถานที่ไว้ล่วงหน้าที่จะทำอย่างไรจึงจะดีที่สุดที่จะแก้ไขสถานการณ์ หากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้พื้นที่ชั้น 8 และ ชั้น 9 เป็นหอผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 200 ราย โดยจะแบ่งเป็นหอผู้ป่วยห้องละ 50 ราย แยกหญิงและชาย โดยในแต่ละห้องจะแบ่งโซนละ 7-8 เตียง แต่ละโซนจะมีห้องน้ำ/ห้องอาบน้ำแยกเฉพาะ ทั้งนี้เริ่มรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเข้ารักษาตัวในวันที่  18 เมษายน 2564 โดยทางโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ มีมาตรการและมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างรัดกุม ขอให้พนักงาน นักศึกษา และประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย

ด้านการดูแลผู้ป่วยขณะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ

โรงพยาบาลจัดบริการอาหาร 3 มื้อ โดยงานโภชนาการของโรงพยาบาล น้ำดื่มไม่จำกัด บริการชุดผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการรักษาตัว บริการฟรีอินเตอร์เน็ต WIFI บริการรับฝากอาหารจากญาติผู้ป่วย หรือเดลิเวรี่ ทุกวัน เวลา 11.00 - 13.00 น. นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงราย ในสนับสนุนเจ้าหน้าที่มาช่วยรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในพื้นที่

ด้านการรักษาพยาบาล

วันแรกของการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ พยาบาลประจำหอผู้ป่วยจะเป็นผู้ปฐมนิเทศการปฏิบัติตัวในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ให้ผู้ป่วยทราบ ดังนี้

1. ผู้ป่วยจะต้องวัดอุณหภูมิ วัดความดันโลหิต วัดค่าออกซิเจนในเลือดด้วยตัวเอง เวลา 02.00น. 06.00 น. 10.00 น. 14.00 น. 18.00 น . และ 22.00น. และรายงานให้แพทย์และพยาบาลทราบผ่านทางกลุ่ม Line Official

2. แพทย์/พยาบาล จะสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านทาง Line Official หรือเครื่องขยายเสียง ร่วมกับการดูกล้อง CCTV ที่ติดตั้งไว้ในหอผู้ป่วยโดยรอบ

3. กรณีที่ผู้ป่วยต้องการพูดคุยกับแพทย์/พยาบาลโดยตรง สามารถใช้โทรศัพท์ภายในหอผู้ป่วยและโทรศัพท์มาที่เคาน์เตอร์พยาบาลได้

4. การสั่งของออนไลน์ อาหารดิลิเวอร์รี่ หรือให้ญาตินำของใช้ส่วนตัวมาให้ที่โรงพยาบาล สามารถนำฝากได้ ณ จุดรับฝากของ ในช่วงเวลาระหว่าง 11.00 น. - 13.00 น. โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำส่งให้เวลา 14.00 น.

**กรณีมีอาการผิดปกติ ต้องแจ้งแพทย์/พยาบาลให้ทราบทันที**

          ผู้ป่วยจะพักรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน และจะให้กลับบ้านเมื่อครบ 10 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะอยู่ในระยะที่ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ แต่หากผู้ป่วยยังมีอาการ เช่น ไข้ ไอ แพทย์จะส่งตัวเข้ารักษาต่อในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เพื่อสังเกตอาการ จนครบ 14 วัน และหลังจากนั้นจะให้กลับไปพักรักษาตัวและกักตัวต่อที่บ้านพักอีก 14 วัน (รวมระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ 14 วัน + บ้าน 14 วัน = 28 วัน) สำหรับแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยจะเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ จำนวน 3 คน/วัน จากโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ 2-3 คน/วัน และจากโรงพยาบาลอำเภอจำนวน 1 คน/วัน ที่จะหมุนเวียนมาประจำที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ

การบริหารจัดการพื้นที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ได้กำหนดและแบ่งแยกเส้นทางการลำเลียงผู้ป่วยโควิด-19 และเส้นทางที่ผู้มารับบริการทั่วไปของโรงพยาบาลอย่างชัดเจน มีการกำหนดประตูและลิฟท์ที่ใช้ลำเลียงผู้ป่วยแยกต่างหาก โดยลิฟท์จะถูกล็อกให้เปิดเฉพาะชั้น 1 และ ชั้น 8 (อาคารถูกออกแบบตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด และมีเส้นทางพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อ)

โดยเจ้าหน้าที่สวมใส่ชุด PPE ระดับ 4 จะเป็นผู้รับผู้ป่วยจากรถและนำส่งผู้ป่วยจากชั้น 1 ถึง ชั้น 8 เป็นผู้ควบคุมลิฟท์ เปิดประตู และนำส่งผู้ป่วยถึงเตียงผู้ป่วย โดยที่ผู้ป่วยจะไม่สัมผัสประตูหรือลิฟท์ระหว่างการเดินทางเข้าหอผู้ป่วย //แม่บ้านจะทำความสะอาดลิฟท์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที เมื่อนำส่งเสร็จสิ้น พนักงานขับรถจะทำความสะอาดรถตามขั้นตอน และอาบน้ำทันที ก่อนกลับไปปฏิบัตงานตามปกติ

โรงพยาบาลศูนย์การแทพย์ฯ จัดที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ Cohort Ward  โดยไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไปพื้นที่อื่นนอกจากพื้นที่ที่ปฏิบัติงานเท่านั้น  เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) ทุกท่านจะได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี Swab ภายหลังปฏิบัติงานครบ 10 วัน

ภาชนะอาหารที่ใช้สำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่เป็นประเภทใช้แล้วทิ้ง/เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่ใช้ใน Cohort Ward จะไม่ถูกนำมาใช้ปะปนกับการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไปของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ โดยเด็ดขาด

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขอขอบคุณหน่วยงาน ห้างร้าน ประชาชน ที่สนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลด้วยการมอบสิ่งของทั้งอุปโภค บริโภค เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญนอกเหนืออื่นใดคือ “กำลังใจ” ที่ทุกคนส่งมาให้พวกเรา “บุคลากรทางการแพทย์” ที่หมายถึงทุกคน ทุกหน้าที่ ทุกระดับ ที่มีส่วนร่วมในภารกิจนี้ MFU Together, this too shall pass.

 

  • 5804 ครั้ง
  • #โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง