วิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

วิหารพระเจ้าล้านทองเฉิลมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ในโอกาสสำคัญ รวมทั้งเป็นสถานที่พักใจ ชำระจิตใจให้เข้าถึงธรรม พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการก่อสร้างวิหารโล่งแบบล้านนา

 

ความเป็นมา

     วิหารพระเจ้าล้านทองเฉิลมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดสร้างโดยดำริของ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และด้วยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาในโอกาสสำคัญ รวมทั้งเป็นสถานที่พักใจ และชำระจิตใจให้เข้าถึงธรรม และอนุรักษ์ศิลปะการก่อสร้างวิหารโล่งแบบล้านนา

     เมื่อแรกเริ่มที่คิดจะสร้างวิหาร รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ มีแนวคิดว่าจะสร้างวิหารขนาดเล็กแบบเรียบง่ายและใช้งบประมาณก่อสร้างในวงเงินไม่เกิน ๑ ล้านบาท แต่ภายหลังได้เกิดความคิดว่าควรจะใช้โอกาสในการสร้างวิหารพระเจ้าล้านทองหลังนี้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นด้วย คือ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมการก่อสร้างวิหารโล่งแบบล้านนาไทยไปด้วยโดยนำต้นแบบวิหารโล่งของวัดต่างๆ มาเป็นต้นแบบการก่อสร้าง รวมทั้งให้เป็นจุดศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

สถานที่ก่อสร้างและรูปแบบ

     ในการจัดที่ตั้งของวิหารนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี ได้สำรวจพื่้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมร่วมกับ นายสงคราม ชีวประวัติดำรงค์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และเห็นพ้องต้องกันว่าวิหารควรอยู่ในตำแหน่งที่สูงสุดและไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างใดสูงกว่า จึงได้เลือกสถานที่จัดสร้างบนยอดเนินทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่สูงสามารถมองเห็นได้อย่างทั่วถึง โดยกำหนดให้วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ ๑๓ องศา ซึ่งตรงกับทางเข้ามหาวิทยาลัยพอดี

 

     รูปแบบวิหารจัดสร้างตามแบบสถาปัตยากรรมล้านนามีลักษณะเป็นวิหารโล่ง ออกแบบโดยนำรูปแบบวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง วิหารวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และวิหารวัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง รวมทั้งรูปแบบของวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง มาเป็นต้นแบบในการก่อสร้างออกแบบโดย สล่ารุ่ง จันทร์ตาบุญ ผู้ชำนาญการออกแบบสถาปัตยกรรมล้านนา

     ขนาดวิหาร กว้าง ๘.๙๔ เมตรยาว ๒๐.๐๕ เมตร พื้นที่ใช้ส้อย ๑๘๐ ตารางเมตร โครงสร้างพื้นฐานรากอิฐถือปูน เครื่องบนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง (ใช้ไม้เต็งเป็นหลัก) มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินขอ มี ๔ ซด ๓ ตับ สันหลังคาซดที่ ๓ ประดับปูนปั้นเป้นประสาทเฟื่องประดับด้วยฉัตร ๕ ชั้นช่อฟ้าทำด้วยไม้สักแกะสลักปิดทองที่อกด้านหน้า หน้าบน ทำด้วยไม้สักแกะสักปิดทองประดับพระนามาภิไธย “สธ” ที่หน้าบันวิหาร ใช้เวลาก่อสร้าง ๓๗๗ วันเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ - ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ งบประมาณการก่อสร้างรวมสิ่งประกอบอื่นๆ ประมาณ ๑๐ ล้านบาท

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนเศียรพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าวิหารฯ และทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์บริเวณวิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๑