มฟล. ชวนท่องเที่ยว “วิถีชาดอยพญาไพร” แหล่งผลิตชาอินทรีย์รางวัลระดับโลก

“ชา” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งผลิตใบชาคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยส่งออกในลักษณะชาเขียว ชาดำ และชาสำเร็จรูป ส่งขายในตลาดอาเซียน จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี แต่ละปีสร้างรายได้ก้อนโตเข้าสู่ประเทศ

จังหวัดเชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศที่เอื้อต่อการปลูกชา ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 350-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ชาเชียงราย เป็นใบชาสดที่มีคุณภาพดี เพราะเกษตรกรผู้ปลูกชาจะเก็บชา 1 ยอด และ 2 ใบชา ยอดกับก้านจะให้รสฝาด ใบแรกรองจากยอดจะให้รสขม ใบที่สองจะให้ความหอม จะได้ความฝาด-ขม-หอม รวมเป็นหนึ่ง รสชาติหอมละมุน กลมกล่อม ยอดชาที่เก็บเกี่ยวถูกส่งเข้าโรงงานทันทีเพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) สมาคมชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ชาเชียงราย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 โดยสินค้าชาเชียงรายที่ได้มาตรฐาน จีไอ คือผลิตภัณฑ์ชาเขียว (ชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก) และชาอู่หลง (ชาที่หมักเพียงบางส่วน) ที่ได้จากพันธุ์ชาอัสสัม และพันธุ์ชาจีน โดยปลูกและผลิตตามกรรมวิธีเฉพาะตามหลักการผลิตชา ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่ลาว อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ไร่ชาปลูกแบบขั้นบันไดในพื้นที่ดอยพญาไพร

ชาเชียงราย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีคุณภาพ ด้วยปัจจัยทางธรรมชาติ ปลูกในพื้นที่หุบเขาสูง ดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นสินค้าที่มีความสะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับนานาชาติ ชาเชียงรายผลิตส่งขายจีนเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นชาสำเร็จรูปส่งออกไปยังไต้หวัน หรือขายเป็นชาราคาเกรดทั่วไปให้กับร้านชาภายในประเทศ เรียกได้ว่า อุตสาหกรรมชาของเชียงรายผลิตในลักษณะรับจ้างผลิต หรือ โออีเอ็ม เป็นส่วนใหญ่

สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยขยายช่องทางการตลาดชาเชียงรายทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากแหล่งปลูกชาส่วนใหญ่ของจังหวัดเชียงรายตั้งอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน ทางจังหวัดเชียงรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจัดกิจกรรม สนับสนุนการท่องเที่ยว หมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชา เป็นประจำทุกปี สร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ท้องถิ่นปีละหลายร้อยล้านบาท

ผศ.ดร. ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล

สถาบันชาและกาแฟ

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดตั้งสถาบันชาและกาแฟ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า วิจัย รวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับชาและกาแฟ เพื่อพัฒนาวงการอุตสาหกรรมชา กาแฟ อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการขาย รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ และยกระดับมาตรฐานชา กาแฟ ของไทยอย่างยั่งยืน พร้อมให้บริการด้านเทคนิค ด้านวิจัยพัฒนา และด้านห้องปฏิบัติการในการพัฒนาสินค้าชา กาแฟ อย่างต่อเนื่อง

สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาและการตลาดสำหรับชาและกาแฟในภาคเหนือของไทย โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชาและกาแฟไทย รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับชาให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ได้เข้าใจเรื่องสายพันธุ์ชา การเก็บใบชาที่ถูกวิธี กระบวนการผลิตชา วิธีการชงชา เทคโนโลยีการแปรรูปชา เช่น การทำโลชั่นบำรุงผิวกายผสมสารสกัดจากใบชา และการทำสเปรย์ดับกลิ่นเท้าผสมสารสกัดจากใบชา เป็นต้น

ที่ผ่านมา สถาบันชาและกาแฟ ได้จัดประชุมวิชาการทั้งในประเทศ รวมทั้งประเทศผู้ผลิตและจำหน่ายชากาแฟชั้นนำของโลก เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน ฯลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งเทคโนโลยีเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและแปรรูป นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการจัดงานเทศกาลชา โดยสนับสนุนการรวมตัวของเจ้าของไร่ชา ผู้แปรรูปชา ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายชา ทั้งในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงแหล่งผลิตชาดีคุณภาพระดับส่งออก และใช้เป็นเวทีเจรจาธุรกิจชาของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งผู้สนใจเรื่องชา กาแฟ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โทรศัพท์ 053-916-253

ชาเขียวอัสสัมของโรงงานชา 1×2

ดอยพญาไพร ทำเลทองของการปลูกชา

เมื่อเอ่ยถึงแหล่งปลูกชาคุณภาพดีของจังหวัดเชียงราย หลายคนนึกถึง “ชาแม่สลอง” เป็นชื่อแรก ความจริงแล้วจังหวัดเชียงรายยังมีทำเลทองของการปลูกชาคุณภาพดีอีกแห่งที่คนไทยส่วนใหญไม่ค่อยรู้จัก นั่นก็คือ “ดอยพญาไพร” ไร่ชาฉุยฟง ของ บริษัท ฉุยฟงที จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตใบชารายใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงราย ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านพญาไพร ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง

ในอดีต ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยพญาไพร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า จีน ลาหู่ และลีซู ปลูกฝิ่นเป็นรายได้หลัก จนกระทั่งในปี 2531 ชาวเขาได้เปลี่ยนถิ่นฝิ่นเป็นถิ่นชา ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีพระราชดำริในการขจัดแหล่งปลูกฝิ่นและยาเสพติด โดยส่งเสริมให้ชาวเขาเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกฝิ่นมาปลูกชา

คนงานกำลังรวบรวมใบชาส่งขาย บริษัท ฉุยฟงที จำกัด

ปัจจุบัน ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนบนดอยพญาไพรมีอาชีพปลูกชา คือ ชาอัสสัม (ท้องถิ่น) ชาจีน (อูหลง, ชาเขียว) ชาน้ำมัน เป็นรายได้หลัก ภายในหมู่บ้านมีโรงผลิตชามากกว่า 30 แห่ง ดอยพญาไพร นับเป็นหนึ่งในทำเลทองของการปลูกชาในจังหวัดเชียงราย เพราะสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศของดอยพญาไพรมีความเหมาะสมเอื้อต่อการปลูกชา ที่นี่มีพื้นที่ไร่ชากว่า 4 หมื่นไร่ ชาวบ้านปลูกชาเป็นขั้นบันไดอยู่ในกลางหุบเขาที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ชาเขียวจากแหล่งนี้มีกลิ่นหอมกลมกล่อม และรสชาติอร่อยกว่าแหล่งอื่น

วงการค้าใบชาทั้งไทยและนานาชาติต่างรู้จักชื่อเสียงของ “ดอยพญาไพร” ว่าเป็นแหล่งปลูกชาเขียวชั้นดีของจังหวัดเชียงราย เครื่องดื่มชาเขียวบรรจุขวดชื่อดังของไทย เช่น โออิชิ อิชิตัน ฯลฯ ล้วนใช้ใบชาเขียวที่ปลูกในพื้นที่ดอยพญาไพรแทบทั้งสิ้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำโครงการ “ชาคืนต้น” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกชาในพื้นที่ดอยพญาไพร ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตใบชารายหลักของอิชิตัน โครงการชาคืนต้น มุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดูแลต้นชาในลักษณะเกษตรผสมผสาน ให้ต้นชาเติบโตปลอดสารพิษ สามารถเพิ่มปริมาณการผลิต รักษาคุณภาพวัตถุดิบให้ได้มาตรฐานสากล และสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนรู้จักการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “อาข่าคิด” เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชนเผ่า

ชาพญาไพร คว้ารางวัลระดับโลก

ล่าสุด ผลิตภัณฑ์ชาเขียวอัสสัมของ โรงงานชา 1×2 บ้านพญาไพรเล่ามา หมู่ที่ 5 ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยคว้ารางวัล Gold Prize ในเวทีประกวดผลิตภัณฑ์ชาระดับโลก The World Green Tea Contest 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น และผลิตภัณฑ์ชาอู่หลงข้าวฮางงอก ของ บริษัท ชาดี 101 จำกัด จังหวัดเชียงราย ก็ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์ชาอู่หลงข้าวฮางงอก ของ บริษัท ชาดี 101 จำกัด

คุณเชิดชาย ลาซี เจ้าของโรงงานชา 1×2 บ้านพญาไพรเล่ามา เปิดเผยว่า ดอยพญาไพรปลูกชาอินทรีย์ในวิถีธรรมชาติ ทำให้ใบชามีรสชาติและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และชาที่ปลูกในพื้นที่แห่งนี้ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ที่ผ่านสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้เข้ามาส่งเสริมความรู้การปลูกและแปรรูปคุณภาพใบชา พร้อมสนับสนุนให้ส่งใบชาเข้าประกวด จนได้รับรางวัล Gold Prize ในเวที The World Green Tea Contest 2020 จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดโดย World Green Tea Association.

ผลิตภัณฑ์ชาของโรงงานชา 1×2
คุณเชิดชาย ลาซี เจ้าของโรงงานชา 1×2 (คนกลาง)

ผศ.ดร. ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า สถาบันชาและกาแฟ มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมคิด พัฒนาบรรจุภัณฑ์และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชาร่วมกับผู้ประกอบการ ในการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าร่วมการประกวดแข่งขัน จนได้รับรางวัล Gold Prize ในเวทีระดับโลกครั้งนี้ และรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันชาไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายสู่เวทีนานาชาติ

พื้นที่ดอยพญาไพรมีสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศที่เอื้อต่อการปลูกชา เพราะตั้งอยู่บนดอยสูงทำให้อากาศและสภาพดินเหมาะสม ใบชามีรสชาติอร่อย คุณภาพดี สามารถพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในฐานะแหล่งปลูกชาออร์แกนิก ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดทั่วโลก

ชาสูตร Signature Menu ของ อเล็ก (จุติเสฎฐ์ ลิ้มพชลพล)

โดยสถาบันชาและกาแฟสนับสนุนองค์ความรู้แก่ชุมชนตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูก การคำนวณต้นทุนการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และการนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง
เพื่อตอบโจทย์การส่งเสริมภาพลักษณ์จังหวัดเชียงราย ในฐานะเมืองแห่งชาและกาแฟ

ที่ผ่านมา สถาบันชาและกาแฟ ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย และสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายจัดกิจกรรม “เดือนแห่งชาและกาแฟเชียงราย 2020” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมายังจังหวัดเชียงรายในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Green Season) โดยรวบรวมร้านชาและกาแฟกว่า 40 ร้าน ที่รังสรรค์เมนูเด็ด (Signature Menu) ให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกันอย่างจุใจ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้ชื่นชอบการดื่มชาและกาแฟ แวะมาท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Normal) สัมผัสประสบการณ์แห่งชาและกาแฟ แบบเชียงราย อย่างลึกซึ้งและประทับใจได้ตลอดทั้งปี

พูดคุยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้ปลูกชา ณ ไร่ชาวังพุดตาล อำเภอแม่ฟ้าหลวง

…………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่

บทความก่อนหน้านี้เกษตรกรแม่ฮ่องสอน รวมพลังเลี้ยงวัวขุนอย่างมีระบบ ดันรายได้พุ่ง
บทความถัดไปไบโอเทค สวทช. ถ่ายทอดข้าวเหนียว “พันธุ์หอมนาคา” สู่เกษตรกรจังหวัดลำปาง