หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร

ปริญญาโท สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร
ภาษาอังกฤษ: Master of Science Program in Innovative Food Science and Technology

 

ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร)
ชื่อย่อ : วท.ม. (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Master of Science (Innovative Food Science and Technology)
ชื่อย่อ : M.Sc. (Innovative Food Science and Technology)

 

ปรัชญา / วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศ ผ่านการวิจัย พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม  หลักสูตรจึงได้ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรตามแนวการศึกษาแบบคอนสตรัคติวิสต์  (Constructivist Theory)  โดยเชื่อว่า ความรู้และทักษะต่างๆ ของผู้เรียน จะถูกพัฒนาขึ้นจากภายในของผู้เรียนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และผู้เรียนสามารถนำความรู้นี้มาใช้ในการสร้างสรรค์ แก้ปัญหาหรือทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศต่อไป  

ดังนั้นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร จึงเป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่มีคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพ  มีความรู้และทักษะทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ สามารถนำความรู้จากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง


วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มุ่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารที่สามารถประยุกต์ใช้ทักษะต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ตลอดจนสร้างสรรค์องค์ความรู้ นวัตกรรม วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม ตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาวิชาชีพ

 

จุดเด่นของหลักสูตร

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565 มีจุดเด่น ดังต่อไปนี้
    1. เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยการนำความต้องการหรือปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมมาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะในการทำงาน และยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
    2. ผู้เรียนที่มีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สามารถเทียบโอนความรู้จากการทำงานดังกล่าว มาเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเลือกในกลุ่มวิชา เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industrial Technology and Innovation) ได้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหรือบุคลากรด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยต่อไป 
    3. สร้างรายวิชาที่ทันสมัย โดยมุ่งเน้นให้บัณฑิตสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการอาหารในอนาคต
  2. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565 แตกต่างจากหลักสูตรจากสถาบันอื่น ดังต่อไปนี้
    1. มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการทำงาน โดยกำหนดให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในหมวดวิชาบังคับ และการจัดกิจกรรมเสริม
    2. มีแนวทางการเรียนการสอนแบบ Cooperative and Work Integrated Education (CWIE) ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อให้บัณฑิตพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริง มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดงาน สามารถพัฒนาอาชีพในปัจจุบันและเตรียมพร้อมรองรับตำแหน่งงานในอนาคต
    3. มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศในรูปแบบของหลักสูตรร่วมสองปริญญา (Double Degree Program)
    4. มีความรู้ที่ทันสมัยจากการเรียนรู้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศผ่านโครงการ Visiting Scholar
    5. มีองค์ความรู้ที่แตกต่างจากสถาบันอื่น เนื่องจากมีการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบสำคัญในพื้นที่ เช่น ชา กาแฟ และผักและผลไม้เศรษฐกิจของทางภาคเหนือ

 

แนวทางในการประกอบอาชีพ

  1. นักวิจัยในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
  2. ผู้ควบคุมงานระดับหัวหน้าฝ่าย/หัวหน้าแผนก ในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เช่น ฝ่ายผลิต/วางแผนการผลิต ฝ่ายควบคุม/ประกันคุณภาพ หรือฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 
  3. นักวิชาการ/อาจารย์ในสถาบันการศึกษาทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  4. ผู้ตรวจสอบ/ผู้ประเมิน/ผู้บริหารโครงการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของภาครัฐและเอกชน
  5. ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 

 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO1 ปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร จรรยาบรรณทางวิชาการและจริยธรรมการทำวิจัย
  • PLO2 อภิปรายการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารตลอดโซ่อุปทาน เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
  • PLO3 ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร  เพื่อแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
  • PLO4 วิจัยและพัฒนาอาหารอนาคตให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  • PLO5 ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ตามบทบาทและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ในสังคมพหุวัฒนธรรม
  • PLO6 นำเสนอสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ได้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

 

ค่าธรรมเนียม

จำนวน 4 ภาคการศึกษาในหลักสูตร

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 140,000.- บาท
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 35,000.- บาท

 

โครงสร้างหลักสูตร

แผน ก1  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต  
    1. หมวดวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาบังคับ (ให้เรียนโดยไม่นับหน่วยกิต)  
       
แผน ก2  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต  
    1.หมวดวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาบังคับ 12 หน่วยกิต
    3. หมวดวิชาเลือก
     - กลุ่มวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมอาหาร
     - กลุ่มวิชาเคมีอาหารและโภชนาการ
12 หน่วยกิต
       
แผน ข  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต  
    1. หมวดวิชาค้นคว้าอิสระ 6 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาบังคับ 12 หน่วยกิต
    3. หมวดวิชาเลือก
     - กลุ่มวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมอาหาร
     - กลุ่มวิชาเคมีอาหารและโภชนาการ
18 หน่วยกิต
       

 

ข้อมูลอ้างอิง

อ้างอิงจาก หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร พ.ศ. 2565

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 19 ก.ค. 65